|
บริการ |
|
บริการ : บทความเกี่ยวกับการพูดของดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ |
|
วิทยากรสมัยใหม่ วิทยากรยุคใหม่ควรเป็นอย่างไร
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
ความสำเร็จในการฝึกอบรมในแต่ละครั้ง เราคงไม่ปฏิเสธว่า วิทยากรเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การฝึกอบรมในครั้งนั้นๆ เป็นไปด้วยดี มีประสิทธิภาพ หรือ เกิดความล้มเหลวในการฝึกอบรม ยุคอดีต การศึกษา สื่อต่างๆ เรามีโอกาสได้รับน้อยมาก แต่ในยุคปัจจุบัน คนจำนวนมากได้รับการศึกษา ได้รับการบริโภคสื่อต่างๆ อีกทั้งยังได้รับการอบรมในหลักสูตรต่างๆอีกมากมาย ฉะนั้น การคัดเลือกวิทยากรจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งวิทยากรยุคใหม่ ที่ได้รับการยอมรับในวงการฝึกอบรมควรมีคุณสมบัติดังนี้
1.มีการนำเสนอที่หลากหลาย วิทยากรยุคใหม่ควรนำเสนอในการอบรมด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในการใช้สื่อ(การใช้คลิปภาพยนตร์ประกอบ , การใช้เพลงประกอบการฝึกอบรม , การใช้โปสเตอร์ในการประกอบการฝึกอบรม, การใช้อุปกรณ์ต่างๆในการประกอบการฝึกอบรม เป็นต้น) ความหลากหลายในเนื้อหา (มีการอ้างอิงวิชาการ มีการอ้างอิงตัวอย่างจริง มีการใช้มุขตลกมาสอดแทรก มีการใช้แง่มุมความคิดเห็นของตนเองในการนำเสนอ มีการแนะนำหนังสือหรือเนื้อหาอื่นๆ ให้ไปอ่านเพิ่มเติม เป็นต้น)
2.มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ในการบรรยาย นี่คือความแตกต่างระหว่าง วิทยากรสมัยใหม่กับวิทยากรในสมัยก่อน เลยทีเดียว เนื่องจากยุคนี้ เรามีการแข่งขันสูง การใช้เทคโนโลยี จึงมีการนำมาใช้ทุกวงการ ไม่ว่า วงการธุรกิจ วงการการเมือง วงการทหาร วงการตำรวจ ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่วงการวิทยากรเอง เราจะเห็นได้ว่า วิทยากรหนุ่มๆ มีความสามารถเป็นที่ดึงดูดใจ หรือผู้ฟังอยากฟัง มากกว่าวิทยากรสมัยเก่าบางท่าน ก็เนื่องมาจากปัจจัยหนึ่ง ก็คือ วิทยากรท่านนั้น มีการใช้เทคโนโลยีมาใช้ประกอบการฝึกอบรมนั่นเอง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้เกิดการได้เปรียบในการแข่งขันในวงการวิทยากร
3.มีการนำเสนอที่ชัดเจน เข้าใจง่าย สนุก ไม่สับสน การเป็นวิทยากรสมัยใหม่ มักจะต้องทำเรื่องยากๆ ให้ดูเป็นเรื่องง่าย เรื่องง่ายๆ ให้เป็นเรื่องที่สนุก ไม่เครียด ตัวอย่าง สดๆร้อนๆ เมื่อสักครู่นี้เอง ก่อนที่กระผมจะเขียนบทความฉบับนี้ ได้มี โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ติดต่อให้กระผมไปเป็นวิทยากร แล้วก็บอกว่า “ อาจารย์ ขอให้พูดแบบสนุกๆ ไม่เครียด ไม่ต้องเอาสาระก็ได้ เอาฮาอย่างเดียว” ผมก็เกือบถามไปว่า “ถ้าวันไปบรรยาย ก็ขอให้เตรียมถาดให้หน่อย จะได้ไปตีหัวและเล่นตลกให้ดูเลย ” 555)
4.มีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ เมื่อผู้เข้ารับการอบรมกลับไปทำงานตามปกติแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน เช่น พนักงานขายเมื่อก่อนขายไม่เคยขายเข้าเป้าหมาย แต่เมื่ออบรมไปแล้ว พนักงานขายคนดังกล่าวมียอดขายเกินเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ หรือ พนักงานส่วนใหญ่มีความเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น ในการทำงาน แต่เมื่อได้รับการอบรมไปแล้ว พนักงานส่วนใหญ่มีความขยันทำงาน มีความรับผิดชอบในการทำงานมากขึ้น เป็นต้น
5.มีความรู้กว้างและรู้ลึก วิทยากรสมัยใหม่ ต้องมีความรู้ที่รอบด้าน รู้กว้างและรู้ลึก ในเรื่องราวต่างๆ เนื่องจาก สังคมยุคปัจจุบัน เป็นสังคมเปิด เป็นสังคมแห่งการแข่งขัน เป็นสังคมข่าวสาร หากว่า วิทยากรมีความรู้น้อยกว่าผู้เข้ารับการอบรม อีกทั้งไม่สามารถตอบคำถาม หรือ แก้ปัญหาให้เขาได้ วิทยากรท่านนั้นก็คงสำเร็จได้ยากในแวดวงวิทยากรสมัยใหม่
6.มีความรู้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ยุคสมัยใหม่ หรือยุคสมัยนี้ เราคงได้ฟังได้ยินว่า มีวิทยากรระดับโลก ได้มาบรรยายในหัวข้อต่างๆ ให้กับนักธุรกิจไทย หรือ ผู้สนใจฟัง ซึ่งวิทยากรระดับโลกได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ในการอบรมบางหัวข้ออาจมีคนไทยแปลให้ จึงทำให้เราทราบว่า การที่ท่านจะเป็นวิทยากรยุคใหม่ ท่านจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ ท่านจึงจะได้เปรียบกว่าวิทยากรรุ่นเก่าๆ ที่ไม่สามารถสื่อภาษาต่างประเทศได้ เพราะท่านอย่าลืมว่า ประเทศไทยเราได้ไปทำสัญญาการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศต่างๆ ภาษาอังกฤษจึงเป็นสื่อกลางที่มีความสำคัญมาก ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งหากท่านเป็นวิทยากรที่เก่งภาษาต่างประเทศ ท่านก็อาจจะได้มีโอกาสไปบรรยายในต่างประเทศ
สรุปคือ วิทยากรยุคใหม่ต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ความคิดในการนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย , การเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการฝึกอบรม , มีการดัดแปลง ประยุกต์ เนื้อหาเพื่อให้เกิดความชัดเจน เข้าใจง่าย สนุกไม่สับสนในเนื้อหาที่บรรยาย , มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อบรมในทางที่ดีขึ้นในการทำงาน , ต้องเรียนรู้ให้มากและหนัก ต้องรู้ลึก รู้กว้าง ในหัวข้อต่างๆ และต้องมีความรู้ภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษเพื่อที่จะนำไปใช้ในการบรรยายหากท่านได้มีโอกาสไปบรรยายในต่างประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
...
|
|
|
|
จะพูดให้ได้ดีต้องมีเครื่องปรุง จะพูดให้ได้ดีต้องมีเครื่องปรุง
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
ศิลปะการพูดก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับศิลปะการทำอาหาร กล่าวคือ เมื่อเรามีข้อมูลในการพูดหรือวัตถุดิบที่จะทำอาหารแล้ว แต่การที่จะปรุงอาหารให้อร่อย เราคงต้องอาศัยเครี่องปรุงที่ดี การพูดก็เช่นกัน ควรมีเครื่องปรุงเพื่อให้การพูดออกมามีความสนุกสนาน ชวนติดตาม ไม่น่าเบื่อ ซึ่งเครื่องปรุงที่ดีในการพูดมีดังนี้
1. มีคำคม สุภาษิต คำพังเพย ของนักปราชญ์ อันว่า คำคม สุภาษิต คำพังเพย เป็นคำสั้นๆ แต่กินใจความหรือสามารถขยายความไปได้มาก เมื่อฟังแล้วนำไปคิดยิ่งเห็นจริงเห็นจังกับคำคม สุภาษิต คำพังเพย นั้น
2. เรื่องราวที่ตลก ขบขัน ชวนฟังทำให้การพูดของเราดู สนุก ไม่เครียดจนเกินไป ทำให้บรรยากาศในการพูดดีขึ้น การใช้เรื่องราวที่ตลก ขบขัน ที่ดีต้องให้มีความสัมพันธ์กับเรื่องที่พูด ไม่ควรพูดเรื่องตลก ขบขัน ที่ยาวจนเกินไป จนทำให้เนื้อหาดูน้อยลงไป อีกทั้งไม่ควรพูด ตลก ขบขัน ประเภทสองแง่สองง่าม หรือตลกประเภทลามก เพราะจะทำให้ผู้ฟังขาดเชื่อถือและความศรัทธาในตัวผู้พูดได้
3. นิทาน นิยาย ละคร ที่ผู้ฟังสนใจ จะทำให้เกิดความใกล้ชิด ความสนใจ ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง และถ้าเป็นละครทีวีที่ผู้ฟังได้ดูทุกๆวัน ถ้าหากผู้พูดสามารถนำมาพูดประกอบเพื่อเป็นตัวอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่พูดด้วยแล้ว ยิ่งชวนติดตามเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ฟัง
4. น้ำเสียง น้ำเสียงในการพูดมีความสำคัญมากต่อความสนใจและความสำเร็จในการพูด น้ำเสียงในการพูดควรมีความหลากหลาย และควรปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ น้ำเสียงมีความสำคัญจนกระทั่งมีคนเขากล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อความหมาย แต่น้ำเสียงทำให้เกิดความหวั่นไหวขึ้นในหัวใจ”
5. ภาษาท่าทาง การแสดงสีหน้า ในการพูด เป็นส่วนผสมของเครื่องปรุงที่จะทำให้การพูดออกมาดี พวกเราหลายคนคงเห็นการแสดงของ นักแสดงตลก ซึ่งบางคนแทบไม่ได้พูดเลย แค่แสดงท่าทาง แสดงสีหน้า ออกมา คนก็เริ่มหัวเราะกันแล้ว การใช้ ท่าทาง การแสดงสีหน้า จึงเป็นส่วนผสมในการพูดที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในการพูดแต่ละครั้ง
6. อารมณ์ของผู้พูด การพูดที่ดี ผู้พูดต้องมีอารมณ์เดียวกันกับเรื่องที่พูดด้วย จึงจะสามารถทำให้ผู้ฟัง รับรู้ถึงความรู้สึกตามอารมณ์ดังกล่าวของผู้พูด เช่น ถ้าผู้พูดมีอารมณ์เศร้า ไม่สบายใจ แต่ผู้พูดพูดเรื่องตลก หรือ ผู้พูดมีอารมณ์สนุกสนานแต่ไปพูดเรื่องราวที่เศร้า เป็นต้น การไม่ปรับเปลี่ยนอารมณ์ของผู้พูดอาจส่งผลให้การพูดในครั้งนั้นๆไม่ประสบความสำเร็จได้ เพราะบางคนไปพูดในงานศพ แต่พูดไปด้วยอารมณ์ที่สนุกสนาน ก็สืบเนื่องมาจากผู้พูดกำลังมีอารมณ์ที่สนุกสนานอยู่นั้นเอง
7. จังหวะในการพูด เป็นสิ่งสำคัญ การพูดหากผู้ผิดจังหวะ ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จได้ เช่น พูดเรื่อง ตลกขบขัน ผู้พูดดันพูดยังไม่ทันจบเรื่อง แต่ผู้พูดดันหัวเราะเสียเอง คนก็มักจะไม่หัวเราะหรือถ้าหัวเราะก็อาจจะหัวเราะที่ผู้พูดหัวเราะทำไม หรือ การพูดเรื่องเศร้า แต่ผู้พูดไม่รู้จักจังหวะในการเล่า ไม่รู้จัก การหยุด การเน้น การย้ำ ไม่รู้จักใช้จังหวะในการใช้น้ำเสียงเข้าช่วย ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จในการพูดได้
ปัจจัยข้างต้นนี้ เป็นส่วนผสมของเครื่องปรุงที่จะทำให้ท่านพูดได้ดียิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังมาก
ขึ้น จงศึกษา เรียนรู้ และใช้มันบ่อยๆ แล้วท่านจะเป็นคนหนึ่ง ที่ผู้ฟังชื่นชอบ ศรัทธา เชื่อถือ เหลื่อมใส จงลงมือทำแล้วท่านจะประสบความสำเร็จ
...
|
|
|
|
การพูดต่อหน้าที่ชุมชน การพูดต่อหน้าที่ชุมชน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
นักการเมือง นักบริหาร นักปกครอง นักประชาสัมพันธ์ นักกฎหมาย ต้องเป็นนักพูด
การพูดต่อหน้าที่ชุมชนมีความสำคัญต่อความเป็นผู้นำและการประกอบอาชีพต่างๆ “หากท่านปรารถนาจะเป็นผู้นำ ท่านต้องลุกขึ้นพูดต่อหน้าที่ชุมชนได้” เป็นคำพูดของหลวงวิจิตราวาทการที่ได้กล่าวมาอย่างยาวนานและเป็นอมตะวาจาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
“ ลิ้นเพียงสองนิ้ว ขงเบ้งยกเมืองให้เล่าปี่ได้” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินความจริงทีเดียว ในการทำสงครามฝ่ายที่มีกำลังมากย่อมได้เปรียบกว่าฝ่ายที่อ่อนแอ แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายที่มีมันสมองบวกกับการรู้จักใช้คำพูดให้เป็นประโยชน์ ย่อมสร้างชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ได้ นักการทูตที่สำคัญๆ ของโลก ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศของตนเองอย่างมหาศาลก็ด้วยการใช้ลิ้นหรือคำพูดที่ก่อประโยชน์ในการเจรจาต่อรองตกลง ขอความช่วยเหลือฝ่ายต่างๆเพื่อให้ประเทศของตนเองอยู่รอดปลอดภัย
เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านหลายท่านอาจมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดคิดว่า นักพูดจะต้องคุยเก่ง พูดคล่อง พูดมาก หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่นักพูดหมายถึง คนที่สามารถใช้คำพูดให้เกิดประโยชน์ เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ พูดแล้วคนเชื่อถือ พูดแล้วสามารถโน้มน้าว ใจคนได้
เคยมีคนโทรศัพท์มาถามผมหลายคนว่า แล้วถ้าอยากจะเป็นนักพูดที่ดีต้องทำอย่างไร คำตอบคือ ท่านจำเป็นจะต้องเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า นักคิด นักฟัง และก็หมั่นฝึกฝน พร้อมกับต้องมีการปรับปรุง พัฒนาการพูดของตนเองอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องเชื่อว่า การพูดนั้นสามารถศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนได้ จงเชื่อเรื่องของพรแสวงมากกว่าเรื่องของพรสวรรค์ ที่สำคัญนักพูดที่ดีต้องมีลักษณะดังนี้
1. ต้องมีความปรารถนาอยากที่จะเป็นนักพูด เพราะ ความรัก ความชอบ จะทำให้ทำเรื่องที่รัก ที่ชอบได้ดีกว่า หากว่าเราไม่รัก ไม่ชอบ สิ่งนั้น อีกทั้งเมื่อถูกเชิญให้ไปพูดเรื่องอะไร ตัวผู้พูดจะต้องมีประสบการณ์ในเรื่องที่จะพูดอยู่พอสมควร หรือ ศึกษาเรียนรู้เรื่องนั้นมานานพอสมควร แต่หากไม่รู้เรื่องนั้นก็ควรเตรียมตัวไปให้ดี ต้องอ่านให้มาก ต้องฟังให้มาก ต้องมีการวางแผนการพูดเป็นอย่างดี ว่าจะขึ้นต้นอย่างไร ช่วงกลางจะพูดอย่างไรและสรุปจบอย่างไร ควรมีตัวอย่างหรืออุปกรณ์ หลักฐาน ประกอบหรือใช้อ้างอิงในการพูดแต่ละครั้ง
2. ต้องมีความสามารถในการสื่อสาร นักพูดที่ได้รับการยอมรับ มักมีเทคนิคในการพูดที่เป็นที่น่าสนใจของผู้ฟัง บางคนมีมุขตลก บางคนมีแง่คิด บางคนพูดแล้วคนฟังเชื่อถือคล้อยตาม โดยมากมักต้องมีวิธีเล่าที่ง่าย น่าสนใจ ไม่ทำเรื่องง่ายให้ยาก แต่จะทำเรื่องยากให้ง่าย และเรื่องง่ายให้เป็นของสนุก
3. ต้องมีการฝึกซ้อมการพูดอยู่เสมอ นักพูดที่ยิ่งใหญ่ มักเคยผ่านการพูดเวทีสำคัญๆ และมีชั่วโมงบินในการพูดที่สูงกว่านักพูดธรรมดาสามัญ เพราะการพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ คำว่า “ศาสตร์” อาจเรียนรู้กันได้ แต่คำว่า “ ศิลปะ” คงต้องขึ้นอยู่ตัวบุคคลนั้น จงพัฒนาและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
4. ต้องมีการสอดใส่อารมณ์ในการพูด การพูดเป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง กล่าวคือ หากผู้พูดมีความรู้สึกถึงเรื่องที่พูดอย่างไร ผู้ฟังมักจะรู้สึกและสัมผัสได้ว่าผู้พูดมีความรู้สึกถึงเรื่องนั้นอย่างนั้น กล่าวคือ หากว่าผู้พูดพูดเรื่องใด ผู้พูดต้องทำน้ำเสียง กริยา ท่าทาง สีหน้า ไปในทางเดียวกับเรื่องที่พูดด้วย
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า การพูดต่อหน้าที่ชุมชน เป็นการสื่อสารที่มีอานุภาพมาก เป็นเครื่องมือ
ที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จและล้มเหลวได้พอๆกัน ฉะนั้น หากท่านต้องการความสำเร็จ ท่านจะต้องมีการฝึกฝน ฝึกฝนและฝึกฝน การพูดอยู่เสมอ
...
|
|
|
|
 |
การสร้างอารมณ์ขันในการพูด การสร้างอารมณ์ขันในการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
การสร้างอารมณ์ขันในการพูดมีความสำคัญและมีความจำเป็น เป็นอันมากต่อการพูดต่อหน้าที่ชุมชน อารมณ์ขันนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น
1.ช่วยให้บรรยากาศในการพูดเป็นกันเอง
2.ช่วยทำเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่าย และเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องสนุก
3.ช่วยในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
4.ช่วยสร้างสีสัน สร้างเสน่ห์ในการพูด
ซึ่งการสร้างอารมณ์ขันเราสามารถสร้างได้หลายวิธี ดังนี้
1.อ่านหนังสือประเภทขำขัน เช่น หนังสือการ์ตูน หนังสือตลก หนังสือนิทาน
2. สังเกต จดจำ นำเอาคำพูด อารมณ์ขันของผู้อื่นมาดัดแปลง ปรับปรุง เพื่อใช้ในการพูด
3.ควรใช้ภาษา ท่าทาง น้ำเสียง อารมณ์ให้มีความสอดคล้องกับเรื่องที่พูด
4.หาเวทีในการพูดให้มากๆ เพื่อฝึกการพูดในการสร้างอารมณ์ขัน
สำหรับข้อควรระวังในการพูดอารมณ์ขัน คือ
1.ไม่บอกผู้ฟังว่าวันนี้จะมาพูดเรื่องตลกหรือเรื่องขำขัน
2.ผู้พูดไม่ควรหัวเราะเสียเองในเวลาที่พูดเรื่องราวขำขัน
3.ไม่ควรนำเอาเรื่องของ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ขนมธรรมเนียม หรือสิ่งที่ผู้คนเคารพมาพูดล้อเลียน
4.ไม่ควรพูดจา สองแง่สองง่าม ตลกใต้สะดือ มากจนเกินไป
ดังนั้น การสร้างอารมณ์ขันในการพูดจึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของนักพูด ซึ่งนักพูดแต่ละท่านอาจอ่านตำราการสร้างอารมณ์ขันเล่มเดียวกัน แต่การนำไปใช้ได้ไม่เท่ากัน เพราะทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับการนำเอาทฤษฏีไปปรับใช้ให้เข้ากับ ลีลา ท่าทาง น้ำเสียง กริยา ภาษา บุคลิกและจังหวะในการพูดของแต่ละบุคคล
...
|
|
|
|
 |
ข้อแนะนำสำหรับวิทยากรมือใหม่ ข้อแนะนำสำหรับวิทยากรมือใหม่
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
ในอดีตกระผมเคยเป็นวิทยากรมือใหม่ ซึ่งบางครั้งเคยทำผิดพลาดมาบ้างในงานการฝึกอบรม ในบทความตอนนี้ จึงอยากที่จะมาบอกเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับท่านผู้อ่าน ข้อแนะนำสำหรับวิทยากรมือใหม่ มีดังนี้
1.ท่านควรไปทำความรู้จักกับผู้บริหารหรือผู้ที่ดูแลงานด้านฝ่ายฝึกอบรมก่อน เพื่อรับทราบข้อมูลว่า ทางหน่วยงานมีปัญหาอะไร ถึงได้ต้องการจัดอบรมในเรื่องดังกล่าว การทำความรู้จักจะสร้างความคุ้นเคย หรือหากท่านไม่มีเวลามากพอ ท่านก็อาจจะต้องโทรศัพท์ไปซักถามความต้องการของผู้จัด หรือ หากให้เป็นทางการหน่อย ท่านก็ควรมีแบบฟอร์ม TRAINING NEEDS ANALYSIS ให้ทางผู้จัดได้กรอกข้อความที่ต้องการฝึกอบรม ว่าทางหน่วยงานมีปัญหาอะไร ความต้องการเป็นอย่างไร
2.ท่านควรเดินทางไปก่อนเวลาในการอบรม การเดินทางไปก่อนเวลาในการอบรม จะทำให้ผู้จัดมีความสบายใจ อีกทั้งตัววิทยากรเอง ก็สามารถที่จะเตรียมความพร้อมได้ดียิ่งขึ้น ก่อนเวลาฝึกอบรมควรไปตรวจสอบดู เรื่องของการทำงานของเครื่องฉาย เครื่องคอมพิวเตอร์ ไมโครโฟน เอกสารประกอบการบรรยาย ฯลฯ การไปถึงก่อนเวลายังจะทำให้ท่านสร้างความคุ้นเคยกับผู้เข้ารับการอบรมอีกด้วย
3.ท่านต้องมีความรู้มากกว่าผู้เข้ารับการอบรม การมีความรู้ในเรื่องที่จะบรรยายมากกว่าผู้เข้ารับการอบรมจะทำให้ท่านเกิดความเชื่อมั่น เกิดความมั่นใจในตัวเองในการบรรยายมากขึ้น หากท่านมีความรู้ที่น้อยกว่า เมื่อผู้เข้ารับการอบรมสักถาม ท่านตอบไม่ได้ ก็จะทำให้ผู้เข้ารับการอบรมขาดความศรัทธา และตัววิทยากรเองก็จะขาดความมั่นใจไปด้วย หากเรื่องที่เราจะไปบรรยายเรายังมีความรู้ไม่มากพอ ท่านก็ควรทำการบ้านโดยการ อ่านหนังสือ ฟังเทป ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวเพิ่มให้มากขึ้น
4.ท่านต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ในการฝึกอบรมแต่ละแห่งมีปัจจัยแวดล้อมไม่เหมือนกัน เช่น จำนวนคนเข้าอบรม ขนาดของห้อง บรรยากาศของห้อง วัย อายุของผู้เข้าอบรม อุปกรณ์ที่ช่วยในการบรรยาย ฯลฯ ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นวิทยากรมืออาชีพได้จะต้องรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ตัวอย่าง หากว่าวิทยากรได้เตรียมทำการบ้านเป็นอย่างดีว่า เริ่มต้นการฝึกอบรมเราจะให้มีการทำกิจกรรมแต่การทำกิจกรรมนั้นต้องใช้พื้นที่มากเพื่อที่จะให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ใช้พื้นที่ในการเดิน ในการพูดคุย ในการทำความรู้จักกัน แต่พอไปถึงห้องฝึกอบรม ปรากฏว่า ห้องกับคับแคบ จนไม่สามารถมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมที่เตรียมไปได้ ฉะนั้น ผู้ที่เป็นวิทยากรมืออาชีพต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ว่า เราควรจะทำอย่างไร
5.ท่านควรวางแผนงานให้มีระบบมากขึ้น เช่น เวลาติดตามงานกับลูกค้า หน่วยงาน องค์กรที่จัดการฝึกอบรม ท่านควรมีแบบฟอร์มต่างๆ (ใบเสนอราคา , ใบตอบรับ , เอกสารแนะนำประวัติวิทยากร , ใบ TRAINING NEEDS ANALYSIS เป็นต้น) อีกทั้งเวลาติดต่อรับงาน ควรติดต่อผ่านเป็นรายลักษณ์อักษรจะผิดพลาดน้อยกว่าการติดต่อผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ ซึ่งตัวกระผมเองก็เคยทำผิดพลาดมาแล้ว การรับงานวิทยากรครั้งหนึ่งในอดีต เนื่องจากเห็นว่าผู้ติดต่อเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จึงได้รับปากว่าจะไปเป็นวิทยากรให้ แต่ปรากฏว่า มีความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อนในเรื่องของวัน เวลา กระผมเองไปถึงงาน จึงสงสัยว่าทำไมจึงเงียบไม่มีคนเข้ารับอบรมหรืออย่างไร ปรากฏว่า เขามีการจัดงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดประสบการณ์ เมื่อมีการเชิญไปเป็นวิทยากรครั้งใด กระผมต้องขอจดหมายเชิญ และตัวกำหนดการทุกครั้ง เพื่อป้องกันการผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ในการทำงาน
ทั้งนี้ข้อแนะนำทั้ง 5 ข้อข้างต้นเป็นข้อแนะนำสำหรับวิทยากรมือใหม่ และยังมีอีกหลายปัจจัยที่วิทยากรมือใหม่ควรทำ เช่น การพัฒนาตนเองอยู่เสมอตลอดเวลา , มีการบรรยายที่ครบเครื่องมากขึ้น (มีอารมณ์ขันในการพูด,มีเนื้อหาสาระที่ใหม่ๆ ,มีการร้องเพลงประกอบการบรรยาย,มีกิจกรรมให้ทำร่วมกัน,มีคำคม คำกลอนประกอบการบรรยาย) อีกทั้งวิทยากรมือใหม่ควรรู้จักหาช่องทางการตลาด เพราะหากไม่มีลูกค้า ก็ไม่ถูกรับเชิญ เมื่อไม่ถูกรับเชิญก็ไม่มีโอกาสไปเป็นวิทยากร
...
|
|
|
|
การฝึกซ้อมการพูด พูดอย่างมีกึ๋น
ตอน : การฝึกซ้อมการพูด
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
การฝึกซ้อมการพูดมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จและความล้มเหลว ในการไปพูดจากสถานการณ์จริงๆ เพราะการฝึกซ้อมการพูดมีประโยชน์หลายๆอย่าง เช่น จะทำให้เราเกิดความมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น , ทำให้เราพูดคล่องขึ้นโดยไม่ต้องคิดให้เสียเวลา , ทำให้พูดได้ครบประเด็นต่างๆของเรื่องที่พูดตามความต้องการ , ทำให้บริหารเวลาในการพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ
เมื่อคุณต้องการประสบความสำเร็จในการพูดคุณจะละเลยการฝึกซ้อมไม่ได้เลย เพราะการพูดก็ต้องอาศัยทักษะเหมือนกับการเล่นกีฬา การเล่นดนตรี การวาดรูป ฉะนั้น หากเราได้เตรียมบทในการพูดแล้ว ขอให้ท่านจงฝึกซ้อมการพูด และหากท่านมีโอกาสพูดเรื่องนั้นๆ หลายๆเวทีก็จะทำให้ท่านได้มีโอกาสฝึกซ้อมมากยิ่งขึ้น
การฝึกซ้อมในจินตนาการ หากท่านได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่สอนเกี่ยวกับเรื่องความสำเร็จ ภายในหนังสือบางเล่มก็มักจะบรรยายถึงเรื่องการซ้อมในจินตนาการ กล่าวคือ มีการนำนักกีฬาบาสเกตบอลมา 3 คน แล้วให้คนที่ 1 ได้มีการฝึกชู้ดลูกบาสเกตบอลของจริง แล้วให้คนที่ 2 ฝึกชู้ดลูกบาสเกตบอลในจินตนาการและให้คนที่ 3 ไม่ต้องฝึกอะไรเลย ผลปรากฏว่า คนที่ 1 และ คนที่ 2 ทำคะแนนในการชู้ดลูกบาสเกตบอลได้เท่ากัน สำหรับคนที่ 3 ทำคะแนนได้น้อยมาก
หากท่านไม่มีเวลาฝึกซ้อมการพูดจริง ก็ขอให้ท่านแบ่งเวลาฝึกซ้อมโดยการใช้จินตนาการ และควรจินตนาการว่ามีผู้ฟังท่านเป็นจำนวนมาก เป็นหลักพันได้ยิ่งดี เพราะบางคนจินตนาการว่ามีคนสิบยี่สิบคนฟัง แล้วพอไปพูดจริงมีคนฟังเป็น พันคนเลยทำให้ประหม่าพูดไม่ออก แต่หากว่าเราจินตนาการว่ามีคนฟังเราเป็นพันคน แล้วไปพูดจริงมีแค่หลักร้อย ท่านก็จะไม่กลัวและเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
มีคนเคยตั้งคำถามผมว่า แล้วจะฝึกซ้อมการพูดอย่างไรดี ความจริงการพูดเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง การฝึกซ้อมการพูดจึงไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะบางคนฝึกซ้อมการพูดต่อหน้ากระจก ได้ผลดี แต่บางคนบอกว่าน่าเบื่อ , บางคนฝึกซ้อมการพูดโดยการเดินตามชายหาดทะเล , บางคนฝึกซ้อมการพูดต่อหน้าเพื่อนๆ , บางคนฝึกพูดในจินตนาการ ทั้งนี้ไม่มีรูปแบบตายตัว ขอให้ท่านลองหาวิธีการ การฝึกซ้อมการพูดในแบบฉบับของท่านเอง จะเป็นการดีที่สุด เพราะนักพูดชื่อดังในระดับโลกและในระดับประเทศมีวิธีการฝึกซ้อมที่ไม่เหมือนกัน
การฝึกซ้อมการพูดมีแบบฝึกซ้อมด้วยตนเอง ผู้ฝึกจะต้องอาศัยประสบการณ์ในการขึ้นพูดบ่อยๆ และค่อยปรับปรุงแก้ไขการพูดของตนเองให้พัฒนาขึ้น ซึ่งในยุคปัจจุบัน เราสามารถบันทึก VDO การพูดในแต่ละครั้งของเราเพื่อมาดูจะได้เห็นข้อที่ควรปรับปรุง ข้อผิดพลาด ข้อเด่น ของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การฝึกซ้อมการพูดที่เป็นระบบ ในปัจจุบัน มีสถาบันที่สอนการพูดเกิดขึ้นอย่างมากมายกว่าในอดีตซึ่งท่านสามารถหาเรียนหรือลงทะเบียนเรียนได้ อีกทั้งมีระบบการฝึกพูดเกิดขึ้นมาหลายระบบ เช่น การฝึกพูดระบบโทสต์มาสเตอร์ ท่านสามารถฝึกได้จาก สมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย , สโมสรฝึกการพูดในจังหวัดต่างๆ การฝึกพูดระบบเดล คาร์เนกี้ และระบบการพูดแบบการฑูต ซึ่งรูปแบบการฝึกซ้อมแบบเป็นระบบจะมีอาจารย์ วิทยากรหรือบุคคลที่มีประสบการณ์ค่อยชี้แนะในการพูดแต่ละครั้ง เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ฝึกซ้อมการพูดได้นำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
สำหรับหลายๆท่านที่มีหน้าที่การงานเป็นวิทยากร ท่านก็ควรมีการฝึกซ้อมการใช้ทัศนอุปกรณ์ต่างๆประกอบการพูดเพื่อทำให้การพูดของท่านเป็นไปได้ดียิ่งขึ้นในเวลาที่จะต้องไปพูดจริงๆ เช่น การฝึกซ้อมการพูดและหัดเปิดสไลด์ไปด้วย , การฝึกใช้เทคโนโลยีต่างๆ , การฝึกท่าทางในการประกอบการพูด ฯลฯ
และเมื่อคุณได้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่แล้ว ก่อนพูดจริงคุณควรประเมินอีกครั้งหนึ่ง เช่น การจะเพิ่มตัวอย่างเรื่องใดหรือตัดตัวอย่างเรื่องใดออกไป การใช้เวลาในการพูดเหมาะสมไหม การเตรียมสไลด์น้อยไปหรือมากเกินไปหรือเปล่า การใช้สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงในการพูดเหมาะสมหรือเปล่า เป็นต้น
...
|
|
|
|
 |
วัตถุดิบสำหรับการพูด วัตถุดิบสำหรับการพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
ข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการพูดมีความสำคัญมาก ต่อการเป็นนักพูดหรือผู้ที่ต้องการพูดให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งข้อมูลวัตถุดิบที่ใช้ประกอบการพูดได้แก่ ตัวเลขสถิติ นิทาน เรื่องจริง เรื่องตลกๆ ตัวอย่าง คำกลอน คำคม ทฤษฏี สุภาษิต หลักการฯลฯ
การมีข้อมูลมากๆ จะทำให้เราสามารถเลือกใช้คำพูดข้อมูลวัตถุดิบ ให้ตรงกับหัวข้อเรื่องและกลุ่มผู้ฟังได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง ถ้าหากผู้ใดสะสมข้อมูลวัตถุดิบในการพูดเป็นจำนวนมาก ก็มักจะไม่ต้องไปเสียเวลาในการค้นหาข้อมูล ถ้าหากมีคนเชิญไปพูดในหัวข้อที่เรามีข้อมูลอยู่ เราก็สามารถพูดได้โดยใช้เวลาเตรียมตัวน้อยลง
หากท่านต้องการเป็นนักพูดหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในการพูด ท่านจึงต้องเป็นนักอ่านและนักฟัง อ่านและฟัง เพื่อที่จะจดบันทึก หากพบเห็นเนื้อหาที่ดีๆ ท่านก็สามารถตัดเก็บเนื้อหาต่างๆได้จากหนังสือพิมพ์ วารสารหรือถ่ายเอกสาร เพื่อสะสมเป็นคลังข้อมูลของท่านได้
การพูดไปเรื่อยๆ กับการพูดโดยมีการเตรียมตัวจากวัตถุดิบที่มี ผู้ฟังหลายคนจะรู้ เพราะการพูดไปเรื่อยๆ กับการพูดโดยมีการอ้างอิงข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นพูดจนจบการพูด จะทำให้เห็นความแตกต่างกันทั้งเรื่องของความน่าเชื่อถือ สาระ ความเพลิดเพลินในการชวนให้ติดตามฟัง ฯลฯ
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นกระผมขอยกตัวอย่างของการสะสมข้อมูลวัตถุดิบโดยมีการแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้
1.คำคม เช่น คำคมเกี่ยวกับการพูด , คำคมเกี่ยวกับความรัก , คำคมเกี่ยวกับชีวิต , คำคมเกี่ยวกับความกล้า เป็นต้น
2.คำกลอน เช่น คำกลอนเกี่ยวกับพระคุณของพ่อแม่ , คำกลอนเกี่ยวกับการสอนทางศาสนา , คำกลอนเกี่ยวการท่องเที่ยว , คำกลอนสอนใจ เป็นต้น
3.นิทาน เช่น นิทานของศาสนาต่างๆ , นิทานเกี่ยวกับงานขาย , นิทานที่ให้แง่คิดเกี่ยวกับความสำเร็จ , นิทานตลกๆ เป็นต้น
4.ตัวเลข สถิติ เช่น ตัวเลขของประชากรในปัจจุบัน , ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ , ตัวเลขเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น
5.ทฤษฏี เช่น ทฤษฏีทางการตลาด , ทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์ , ทฤษฏีที่เกิดขึ้นใหม่ๆในปัจจุบัน เป็นต้น
6.เรื่องจริง เช่น ประวัติของบุคคลสำคัญๆหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายๆวงการ วงการธุรกิจ วงการศาสนา วงการการเมือง วงการวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
7.เรื่องตลกหรือมุขตลก เช่น มุขตลกที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ การพูด , การขาย , การทำงาน , การสื่อสาร, การคิด เป็นต้น
8.เพลงต่างๆ นักพูดอาจจะไม่ต้องร้องเพลงจนจบหรือร้องเพลงเก่ง แต่นักพูดท่านใด สามารถนำเอาเนื้อหาของเพลงที่มีความหมายและถูกใจมาประกอบการพูดก็จะทำให้การพูดน่าฟังและคนชื่นชอบมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เพลงละคร , เพลงสมัยปัจจุบัน , เพลงที่ดังๆในอดีต , เพลงสากล เป็นต้น
ดังจะสังเกตได้ว่า ข้อมูลวัตถุดิบในโลกนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ก็สามารถเลือกใช้ได้ จึงอาจสรุปได้ว่า นักพูดท่านใดมีข้อมูลวัตถุดิบที่สะสมไว้มากๆ ก็จะทำให้เป็นการง่ายและสะดวกในการเลือกใช้ และถ้าหากนักพูดท่านใดสามารถเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง ตามสถานการณ์ เลือกใช้ให้เหมาะสมกับ สถานที่ วัยของผู้ฟัง จำนวนของผู้ฟัง อาชีพของผู้ฟัง ก็จะยิ่งทำให้การพูดนั้นประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
...
|
|
|
|
 |
การพูดอย่างมีตรรกะ การนำเสนออย่างมีตรรกะ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
www.drsuthichai.com
การนำเสนออย่างมีตรรกะ เป็นการสื่อสารด้วยคำพูด การเขียน อย่างมีเหตุมีผล ซึ่งทำให้ผู้รับการฟังหรืออ่าน เกิดความเข้าใจ เกิดความศรัทธา เกิดความเชื่อถือในตัวของผู้พูดหรือผู้เขียน การนำเสนออย่างมีตรรกะจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรที่จะศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนกัน
สำหรับกระบวนการสื่อสารอย่างมีตรรกะ เราควรคำนึงถึง เรื่องของ 1.วัตถุประสงค์ของการนำเสนอ 2.วิธีการนำเสนอ 3.ความสัมพันธ์กับผู้ที่ต้องการจะสื่อสาร 4.เงื่อนเวลาหรือพื้นที่สื่อ
1.วัตถุประสงค์ของการนำเสนอเป็นสิ่งที่ผู้นำเสนอจะต้องมีความเข้าใจว่าสิ่งที่นำเสนอในครั้งนั้น เราต้องการอะไร เช่น เราต้องการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องของความบันเทิง , เราต้องการการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องของการจูงใจหรือเราต้องการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูล ให้ความรู้ ในการนำเสนอในครั้งนั้นๆ
2.วิธีการนำเสนอ เมื่อเราทราบวัตถุประสงค์แล้ว สำหรับการพูด การเขียน เราจำเป็นจะต้องหาวิธีการเพื่อที่จะทำให้การนำเสนอของเราเกิดความน่าสนใจ เช่น หากเป็นการนำเสนอเพื่อให้ความรู้ในห้องฝึกอบรม เราก็ควรที่จะมีวิธีการนำเสนอที่หลากหลายเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย มีกิจกรรม มีเกมส์ สลับสับเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความสนุกสนานในห้องประชุม หรือ หากเป็นการนำเสนอด้วยการเขียน หากวัตถุประสงค์ในการเขียนในครั้งนั้นๆ เป็นการเขียนเพื่อความบันเทิง เช่นการเขียน นิยาย เราก็ควรมีการใช้ภาษาที่ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการเขียนในงานวิชาการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ เป็นต้น
3.ความสัมพันธ์กับผู้ที่ต้องการจะสื่อสาร มีความสำคัญมากต่อการสื่อสารเกือบทุกประเภท เพราะหากว่าเรานำเสนอได้ดีขนาดไหน แต่ผู้ฟัง ผู้อ่าน ไม่ชอบเรา มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตัวเราแล้ว ผลที่ออกมาจากการประเมินก็มักจะไม่ดีตามไปด้วย ฉะนั้นเราจึงไม่แปลกใจที่เราเห็นนักนำเสนอในยุคปัจจุบัน มักมีการสร้างแฟนคลับ ผ่านสื่อต่างๆ เช่น Facebook , การจัดรายการทางโทรทัศน์ , การจัดรายการผ่านวิทยุ , การเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
4.เงื่อนเวลาหรือพื้นที่สื่อ ในการนำเสนอทุกแห่ง มักมีเรื่องของการกำหนดเวลาพูดให้แก่ผู้พูดหรือพื้นที่สื่อให้แก่ผู้เขียน ดังนั้น เราควรนำเสนอหรือทำการบ้าน ว่าจะทำเสนอให้สั้น ยาว ย่อ ขยาย ในส่วนใดบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับเรื่องของเงื่อนเวลาหรือพื้นที่สื่อที่มีอย่างจำกัด
Why Why Why (ทำไม ทำไม ทำไม) เป็นคำถามที่นักนำเสนออย่างมีตรรกะ ควรใช้เป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามและตอบคำถาม เพื่อการตั้งคำถาม ทำไม จะทำให้เราทราบถึง สาเหตุ ของปัญหา ยิ่งเราถามคำถามว่า ทำไม ซ้ำไปซ้ำมา หลายๆ เที่ยว ก็จะทำให้เราทราบต้นตอที่มีความลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น
เมื่อมีปัญหาในหน่วยงานหรือองค์กร ท่านลองตั้งคำถามว่า “ ทำไม” ดูซิครับแล้วที่จะพบคำตอบในการแก้ไขปัญหา และถ้าจะให้ดีท่านควรที่จะมีการสื่อสารโดยการพูดคุยกันต่อหน้า ซึ่งจะดีกว่าการนำเสนอโดยผ่านการรับโทรศัพท์ การส่งอีเมล์ การส่งแฟกซ์ เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง บริษัทโตโยต้า ได้นำ 5 Why คือวิธีวิเคราะห์การทำงานมาใช้ในการทำงาน ซึ่งมีการถาม Why (ทำไม) ซ้ำไปซ้ำมาถึง 5 ครั้ง ทำให้เกิดกระบวนการปรับปรุงงานได้ดียิ่งขึ้น
ศาสนาพุทธ โดยพระศาสดา พระพุทธเจ้า เป็นแบบอย่างที่ดีในการนำเสนอแบบตรรกะ ซึ่งเป็นการสอนแบบมีเหตุมีผล ซึ่งก่อนที่ศาสนาพุทธเกิด ก็ได้มี ศาสนา ความเชื่ออื่นๆ เกิดขึ้นมาก่อนมากมาย แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมกว้างขวางก็เพราะการสอนโดยการขาดความมีตรรกะหรือขาดความมีเหตุผล บางศาสนา บางความเชื่อ ก็สูญหายไปจากโลก ซึ่งตรงกันข้ามกับพุทธศาสนา ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 2556 ปี
อัลเบิร์ต ไอสไตล์ นักวิทยาศาสตร์เอกระดับโลก บุคคลที่มีความเป็นอัจฉริยะได้กล่าวก่อนเสียชีวิตว่า หากให้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เขาจะเลือกนับถือ ศาสนาพุทธ เขาได้ให้เหตุผลว่า เพราะศาสนาพุทธ สอนอย่างมีเหตุมีผล นั่นเอง
...
|
|
|
|
การพูดเชิงบวก การพูดเชิงบวก
โดย..ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
www.drsuthichai.com
การพูดเชิงบวกมีความสำคัญพอๆกับการคิดเชิงบวก เพราะคนที่ประสบความสำเร็จ มักเป็นคนที่คิดบวกมากกว่าเป็นคนที่คิดลบ และ คนที่ประสบความสำเร็จมักพูดเชิงบวกหรือพูดในแง่ดี มากกว่า การพูดลบหรือพูดในแง่ร้าย
โดยปกติแล้ว คนที่ชอบพูดเชิงบวก มักเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเคารพตนเอง มีความยืดหยุ่น ซึ่งตรงกันข้ามกับคนชอบพูดเชิงลบ มักเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ขาดความเคารพนับถือตนเอง และขาดความยืดหยุ่น
สำหรับคนที่ต้องการเป็นคนพูดบวก ควรหัดเป็นคนคิดบวกด้วย เนื่องจากความคิดเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ อีกทั้งความคิดเป็นตัวการกำหนดการกระทำ รวมทั้งคำพูดด้วย ดังนั้น หากท่านต้องการพูดเชิงบวก ท่านจึงต้องพยายามพัฒนาความคิดให้เป็นไปในเชิงบวกด้วย
ความคิดเชิงลบและการพูดเชิงลบที่มักพบเห็นกันบ่อยๆ ได้แก่
1.การคิดแบบสุดโต่ง กล่าวคือ เป็นความคิดที่ ไม่ยืดหยุ่น มักมองอะไรเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ก็มองเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นหากดีก็ต้องดีสมบูรณ์แบบ(100 เปอร์เซ็นต์) หากไม่ดีก็ล้มเหลว(0 เปอร์เซ็นต์) เช่นความคิดลบหรือคำพูดเชิงลบ ก็จะออกมาในลักษณะ ฉันล้มเหลว ฉันสู้คนอื่นเขาไม่ได้ ฉันโง่เอง ฉันมันไม่ดี เป็นต้น
2.การคิดแบบคิดไปก่อน การคิดแบบนี้ มักคิดว่า อะไรที่มันร้ายๆที่เคยเกิดขึ้นแล้ว มักเกิดขึ้นอีก คำพูดเชิงลบของคนที่คิดแบบนี้ ก็มักจะเป็นคำพูดที่ว่า “ ฉันทำน้ำหกแต่เช้า วันนี้คงต้องซวยกันทั้งวัน ” หรือ “ รถเสียแต่เช้า วันนี้คงต้องมีเรื่องร้ายเข้ามาแน่นอน”
3.การคิดแบบชอบโทษตัวเอง การคิดแบบนี้ มักจะเอาตัวเองไปเชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆซึ่งบางอย่างอาจจะเกี่ยวข้องกับตัวเองหรือบางเรื่องอาจไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วคิดมากจนเกินไปจนตนเองเกิดความรู้สึกต้องรับผิดชอบ ทำให้เกิดความละอาย ความสิ้นหวัง ท้อแท้ คนที่คิดแบบนี้มักใช้คำพูดที่ว่า “ ฉันมันไม่ดีจริงๆ เขาถึงทอดทิ้งฉันไป” หรือ “ถ้าฉันเรียนคณะอื่น มหาวิทยาลัยอื่น ฉันคงไม่เสียใจหรือซวยขนาดนี้”
สำหรับเทคนิคในการสร้างตนเองให้มีคำพูดเชิงบวก ได้แก่
1.มีความเชื่อว่า ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ อีกทั้งต้อง คิดดี ทำดี แล้วคำพูดก็มักจะออกมาในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ พูดดีหรือพูดเชิงบวกด้วย
2.แปลงขยะเป็นทองคำ กล่าวคือ นำสิ่งที่ร้ายหรือไม่ก่อประโยชน์ ให้กลับกลายเป็นดี เช่น เมื่อเจองานหนักๆ หรือถูกเจ้านายกลั่นแกล้ง ก็ขอให้คิดเสียใหม่ว่า นี่คือบททดสอบว่าเราเป็น “มืออาชีพหรือไม่” หรือ สิ่งเหล่านี้จะฝึกให้เราเป็นมืออาชีพในอนาคต
3.หมั่นให้กำลังใจตนเอง ด้วยการฝึก พูดบวกกับตนเอง ให้บวกยิ่งขึ้น มีนักวิจัยเคยวิจัยว่า อะไรก็ตาม หากว่า เราทำซ้ำๆกันให้ได้ 21 วัน วันที่ 22 เราก็มักจะมีนิสัยดังกล่าว เช่น หากเราหมั่นพูดเชิงบวกกับตัวเอง บ่อยๆ เราก็จะเกิดเป็นนิสัยขึ้นมาได้ เช่น ฉันมีพลัง ฉันมีความเชื่อมั่น ฉันทำได้ ฉันเก่งที่สุด ฉันสุดยอด ฉันสุขภาพดี ฉันยอดเยี่ยม ฉันวิเศษสุดๆ เป็นต้น
ดังนั้น หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องการฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้เป็นคนพูดเชิงบวก ท่านควรฝึกความคิดบวกและการกระทำที่บวกไปด้วย เนื่องจากมันมีความสัมพันธ์กัน อีกอย่างสิ่งที่สำคัญก็คือ ท่านควรฝึกฝนด้วยความมุ่งมั่น จนเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวท่าน ขอให้ทุกท่าน ประสบความสำเร็จดังที่ใจปรารถนาทุกประการ
...
|
|
|
|
วิธีการพูดชนะใจคน วิธีพูดให้ชนะใจคน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
www.drsuthichai.com
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ , อับราฮัม ลินคอล์ค , มุสโสลินี, ธีโอโดร์ โรสเวลต์ , จอห์น เอฟ.เคเนดี(JFK),เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลส์ , สตีฟ จอบส์ , นายควง อภัยวงศ์ , จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บุคคลเหล่านี้เป็นตัวอย่างได้อย่างดีในเรื่องของการพูดชนะใจคน เพราะบุคคลเหล่านี้ สามารถพูดเอาชนะใจคนภายในประเทศหรือบางคนสามารถพูดเอาชนะใจคนทั่วโลกได้
บุคคลที่จะสามารถพูดเอาชนะใจคนได้ บุคคลนั้นต้องมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่าง เช่น
1.มีความเชื่อมั่นในตนเอง บุคคลหลายคนอาจมีความรู้สูง มีพรสวรรค์ มีฐานะชาติกำเนิดที่ดี แต่บุคคลนั้นหากขาดซึ่งความเชื่อมั่น เขาไม่สามารถพูดเอาชนะใจใครได้เลย เพราะการที่จะให้ผู้ฟังเชื่อมั่นในตัวเรา ตัวเราจะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองเสียก่อน ซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองในการพูด เราคงต้องอาศัยเรื่องของการเตรียมตัว (เตรียมเนื้อหา เตรียมการพูด เตรียมตัวอย่าง เตรียมข้อมูลหลักฐาน มีการวิเคราะห์ผู้ฟัง มีการฝึกซ้อม ฝึกฝนการพูดอยู่เสมอ มีการอ่าน การฟัง ศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ )
2.มีจินตนาการ บุคคลที่จะสามารถพูดให้ชนะใจคนได้ บุคคลนั้นมักจะต้องมีจินตนาการ สมัยมุสโสลินี มีชีวิตอยู่ มีคนเคยเห็นมุสโสลินีเอามือเกาะหน้าต่าง แล้วมองท้องฟ้าสีครามอยู่เป็นเวลานานๆ หรือ สมัยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยังมีชีวิตอยู่ มีคนเคยเห็นเขาชอบเหม่อมองทิวทัศน์ธรรมชาติ เป็นเวลานานๆ ไม่ใช่เพราะอะไร แต่เขากำลังสร้างจินตนาการในทางการพูดของเขาต่อคนภายในประเทศ จินตนาการจึงเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าท่านจะเป็นนักบรรยาย นักพูด วิทยากร นักโต้วาที นักอบรมสัมมนา นักจัดรายการ ฯลฯ หากขาดซึ่งจินตนาการเสียแล้ว ท่านมักไปไม่ได้ไกล
3.มีความตั้งใจอย่างแรงกล้า บุคคลที่อยากจะเป็นนักพูดที่ชนะใจคน บุคคลนั้นจะต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าเสียก่อน เขาจะต้องมีความทะเยอทะยาน เขาจะต้องมีความมุ่งมั่น จิตใจจะต้องจดจ่ออยู่กับการพูด อีกทั้งเขาได้เห็นความสำคัญของการพูดของเขาในแต่ละครั้ง เขาจึงพัฒนาอย่างไม่มีวันหยุดยั้ง
4.มีศิลปะ อันที่จริงแล้ว การพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ แต่บุคคลที่พูดเก่งมักจะมีการใช้ศิลปะที่เหนือชั้นกว่าบุคคลอื่นๆ ศาสตร์ท่านสามารถหาอ่านได้จาก ตำรา หนังสือ ฟังเทป ฟังวิชาการต่างๆ หรือเข้าไปอบรมเพื่อเอาความรู้ แต่ศิลปะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างผู้ที่เป็นนักพูดในแต่ละบุคคล
5.มีความเป็นอัจฉริยะ อัจฉริยะในที่นี้หมายถึง บุคคลนั้นจะต้องมีความกระหายอยากรู้เรื่องราวต่างๆที่สามารถนำไปพูดได้อย่างแรงกล้า อีกทั้งต้องทำการศึกษาเรื่องนั้นๆอย่างแท้จริง และมีคุณลักษณะความทรงจำที่สูง มีสมาธิสูง มีความกล้าหาญในการแสดงการพูด
6.มีการ ฝึกฝน ฝึกฝนและฝึกฝน บุคคลนั้นจะต้องมีการฝึกฝนตนเองอยู่เป็นนิจ หาเวทีในการแสดงการพูดให้แก่ตนเอง หากไม่มีเวที ก็ต้องมีการฝึกฝนด้วยตนเอง บุคคลที่เป็นนักพูดชนะใจระดับโลก มีการฝึกฝนการพูดด้วยตนเองตามชายหาดทะเลบ้าง ฝึกฝนการพูดด้วยตนเองระหว่างเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ บ้าง
ดังนั้น ปัจจัยข้างต้นจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของการพูดให้ชนะใจคน ซึ่งบุคคลใดต้องการพูดให้ชนะใจจึงต้องนำหลักการข้างต้นไปใช้และนำไปฝึกปฏิบัติ ก็จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการเป็นนักพูดที่ชนะใจคน
...
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|